Friday, September 28, 2012

ทำความรู้จักการตรวจสอบแบบไม่ทำลายชิ้นงาน

การตรวจสอบแบบไม่ทำลาย  เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า Non-destructive Testing / Inspection / Evaluation หรือ NDT, NDI, NDE โดยเป็นกรรมวิธีที่ใช้ตรวจหารอยบกพร่อง ความไม่สมบูรณ์หรือความผิดปกติใด ๆ ที่มีอยู่ในชิ้นงาน เช่น การแยกชั้น (Lamination) รอยแตก โพรงอากาศ ฟองอากาศ ฯลฯ โดยไม่ทำให้เกิดการความเสียหาย หรือทำลายชิ้นงาน [1]

หลักการในการตรวจสอบของวิธีการตรวจสอบแบบไม่ทำลายนั้นอาศัยหลักการและปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ เช่น รังสีแกมม่าหรือรังสีเอ๊กซ์ คลื่นเสียงความถี่สูง การสร้างเส้นแรงแม่เหล็ก หลักการแทรกซึมของของเหลวในช่องแคบ (Capillary action) เป็นต้น โดยผลที่ได้จะเป็นการสังเกตการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของปรากฏการณ์ต่างๆที่เป็นไปตามความผิดปกติของรอยบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์ของชิ้นงานที่ทำการทดสอบ โดยลักษณะของรอยบกพร่อง/ความไม่สมบูรณ์สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ รอยบกพร่อง/ความไม่สมบูรณ์ที่เกิดบริเวณผิว และรอยบกพร่อง/ความไม่สมบูรณ์ที่เกิดภายในชิ้นงาน

เทคนิคการให้บริการตรวจสอบแบบไม่ทำลายที่นิยมใช้กันทั่วไป ได้แก่ [2], [3]
  •  การตรวจสอบโดยใช้สารแทรกซึม
  •  การตรวจสอบโดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก 
  •  การตรวจสอบโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
  •  การตรวจสอบโดยใช้ภาพถ่ายรังสี
  1. การตรวจสอบโดยใช้สารแทรกซึม (Liquid Penetrant  Testing, PT) เป็นวิธีการตรวจสอบโดยใช้ของเหลวที่มีความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปในช่องเปิดขนาดเล็กๆ เมื่อทำการกำจัดส่วนที่เกินออกไปแล้วและใช้สารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการดึงเอาของเหลวที่แทรกตัวออกมาสู่ภายนอกจึงทำให้สามารถมองเห็นความไม่ต่อเนื่องที่มีอยู่ได้ วิธีการตรวจสอบโดยใช้สารแทรกซึมนี้เหมาะสำหรับการตรวจหารอยบกพร่องที่อยู่บนผิวหรือที่มีปากเปิดออกสู่ผิวชิ้นงาน
  2. การตรวจสอบโดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic Particle Testing, MT) เป็นวิธีการตรวจสอบทีใช้ได้กับวัสดุที่มีคุณสมบัติทางแม่เหล็ก (Magnetic materials) เท่านั้น  เมื่อสร้างสนามแม่เหล็กให้กับชิ้นงานพบว่าบริเวณที่มีความบกพร่องหรือความไม่ต่อเนื่องจะเกิดการรั่วของเส้นแรงแม่เหล็ก จึงสามารถดูดผงแม่เหล็กขนาดเล็กให้เข้ามารวมตัวกันในบริเวณที่มีรอยบกพร่องหรือความไม่ต่อเนื่อง ทำให้สามารถตรวจสอบหารอยบกพร่องดังกล่าวได้ วิธีการตรวจสอบนี้เหมาะสำหรับใช้ตรวจสอบหารอยบกพร่องที่อยู่บนผิวหรือที่อยู่ใกล้ผิวชิ้นงานโดยไม่จำเป็นจะต้องมีปากเปิดออกสู่ผิวชิ้นงานเหมือนการตรวจสอบโดยใช้สารแทรกซึม
  3. การตรวจสอบโดยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasonic Testing, UT) เป็นการตรวจสอบหารอยบกพร่องภายในชิ้นงาน โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเข้าไปยังชิ้นงานทดสอบ เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับสิ่งกีดขวางจะเกิดการตรวจวัดสัญญาณเสียงที่สะท้อนกลับมาทำให้สามารถตรวจสอบความไม่ต่อเนื่องได้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้ตรวจวัดความหนาของชิ้นงานได้เช่นกัน
  4. การตรวจสอบโดยใช้ภาพถ่ายรังสี (Radiographic Testing, RT) เป็นการตรวจสอบหารอยบกพร่องภายในชิ้นงานจากภาพถ่ายรังสี โดยใช้รังสีผ่านชิ้นงานไปยังฟิล์มที่อยู่อีกด้านหนึ่งของชิ้นงาน และจากการที่ชิ้นงานสามารถดูดซับรังสีได้แตกต่างกันตามความหนา การที่มีความไม่ต่อเนื่องอยู่ในชิ้นงานเปรียบเสมือนชิ้นงานบางกว่าบริเวณรอบข้างจึงเกิดความแตกต่างของความเข้มของฟิล์มทำให้สามารถตรวจสอบความไม่ต่อเนื่องในชิ้นงานได้ 
ข้อดีของการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย
  • สามารถทำการตรวจสอบได้โดยไม่ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ กับชิ้นงาน ดังนั้นหลังการตรวจสอบจึงสามารถนำชิ้นงานกลับมาใช้ได้อีก
  • สามารถทำการตรวจสอบทุกชิ้นงานและแบบสุ่มตัวอย่าง
  • ใช้ในการตรวจสอบหลายชนิดกับงานชิ้นเดียวกันได้เพื่อความถูกต้องของการตรวจสอบ
  • สามารถทำการตรวจสอบซ้ำกับชิ้นงานเดิมได้
  • สามารถตรวจสอบชิ้นงานขณะใช้งาน (ใช้ได้ในบางกระบวนการ )
  • สามารถตรวจสอบชิ้นงานตามระยะเวลาการใช้งานได้ จึงทำให้ทราบการเปลี่ยนแปลงสภาพของชิ้นงานหลังผ่านการใช้งานแล้ว
  • มีอุปกรณ์ที่ใช้ในงานภาคสนามได้สะดวก
  • ในการตรวจสอบชิ้นงานที่เหมือนกัน อาจออกแบบการตรวจสอบให้เป็นระบบอัตโนมัติได้
  • ไม่ต้องเตรียมชิ้นงานเพื่อการตรวจสอบหรือบางครั้งอาจทำเพียงเล็กน้อย
ข้อจำกัดของการตรวจสอบแบบไม่ทำลาย

การตรวจสอบโดยไม่ทำลายเป็นการตรวจสอบความไม่ต่อเนื่องที่ซ่อนอยู่ เปรียบเทียบได้กับการคลำวัตถุในที่มืดจึงอาจทำให้เกิดการแปลผลการตรวจสอบที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ผู้ตรวจสอบที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ นอกจากนั้นการแปลผลการตรวจสอบมักต้องกระทำผ่านสื่อกลางจึงทำให้ความไว (Sensitivity) ในการตรวจสอบต่ำลงและอาจส่งผลให้เกิดการแปลผลที่แตกต่างกันระหว่างผู้ทำการตรวจสอบแต่ละราย


ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือผลการตรวจสอบที่ได้มักเกิดจากการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทราบค่ามาก่อนหน้าที่แล้ว ดังนั้นจึงมักต้องมีการเตรียมชิ้นงานจำลองที่มีความไม่ต่อเนื่องที่ทราบค่า เช่น ขนาด ตำแหน่งที่แน่นอนเพื่อผลการตรวจสอบที่ถูกต้อง จึงเป็นการเสียเวลาและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น


เอกสารอ้างอิง
[1] Nondestructive testing
[2] NDT-Nondestructive Testing
[3] The open Access NDT Database


สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ห้ามมิให้คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความนี้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้โดยมิได้รับอนุญาต

Tuesday, September 25, 2012

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ISO/IEC 17025 - ข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบ

ISO/IEC 17025 เดิมเริ่มต้นและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ISO Guide 25 ซึ่ง ISO Guide 25 เป็นเพียงข้อเสนอแนะหรือข้อแนะนำ (Guide) เท่านั้นอีกทั้งข้อกำหนดในมาตรฐานดังกล่าวยังไม่มีความชัดจนที่เพียงพอจึงได้มีการพัฒนาเป็นข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการสอบเทียบ ซึ่งถูกจัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยที่ข้อกำหนดฉบับแรกได้มีการจัดทำและประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1978 และมีพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น ISO/IEC 17025 ดังนี้ 
  • ISO Guide 25 -1978 : Guideline for assessing the technical competence of testing laboratory 
  • ISO/IEC Guide 25 - 1982 : General requirement for the competence of testing laboratory 
  • ISO/IEC Guide 25 - 1990 : General requirement for the competence of testing and calibration laboratory 
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1999 จึงได้มีการจัดทำ ISO/IEC 17025 : 1999 ฉบับแรกขึ้น (ISO/IEC 17025 -1999 : General requirement for the competence of testing and calibration laboratory ) จนถึงฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นฉบับที่สอง (ISO/IEC 17025 - 2005 : General requirement for the competence of testing and calibration laboratory) [1] 

คำว่า ISO ย่อมาจาก International Organization for Standardization ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน 

คำว่า IEC ย่อมาจาก International Electrotechnical Commission อันหมายถึงคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

มาตรฐาน ISO/IEC 17025 นี้ถูกจัดอยู่ในหมวดอนุกรมมาตรฐาน 17000 ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายมาตรฐาน เช่น ISO/IEC 17000, ISO/IEC 17011, ISO/IEC 17025, ISO/IEC 17020, ISO/IEC 17024, ISO/IEC 17021, ISO/IEC 17030, ISO/IEC 17040, ISO/IEC 17050 โดยที่มาตรฐาน ISO/IEC 17025 นี้ได้แบ่งข้อกำหนดออกเป็น 2 ส่วนหลักๆด้วยกันคือ

1. ข้อกำหนดด้านการบริหาร และ
2. ข้อกำหนดด้านวิชาการ 

ข้อกำหนดด้านการบริหารมีทั้งสิ้น 15 ข้อ โดยที่จะเน้นไปยังด้านการบริหารจัดการและวางแผนการดำเนินงานเป็นหลัก ส่วนข้อกำหนดด้านวิชาการมีทั้งสิ้น 10 ข้อ ซึ่งเน้นไปทางวิชาการต่างๆ เช่น ด้านบุคลากร เครื่องมือ สภาวะแวดล้อม ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการทดสอบและสอบเทียบ 


ข้อกำหนดด้านการบริหารประกอบไปด้วย 

  1. องค์การ กล่าวถึงการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคลากรหลักที่เกี่ยวข้องกับด้านการบริหารและด้านวิชาการ การบริหารจัดการภายในองค์กรรวมถึงการกำหนดโครงสร้างองค์กร 
  2. ระบบการบริหารงาน กล่าวถึงการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการ รวมถึงการนำไปปฏิบัติใช้ 
  3. การควบคุมเอกสาร กล่าวถึงการจัดการเกี่ยวกับเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องในระบบการบริหารงาน การอนุมัติใช้ การเปลี่ยนแปลงแก้ไข การยกเลิกเอกสาร ฯลฯ 
  4. การทบทวนคำขอ ข้อเสนอการประมูล และข้อสัญญา กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดคำขอ ข้อเสนอฯและข้อสัญญา รวมถึงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับความสามารถและความพร้อมด้านวิชาการของห้องปฏิบัติการ 
  5. การจ้างเหมาช่วงงานทดสอบและสอบเทียบ กล่าวถึงขอบเขตความรับผิดชอบของห้องปฏิบัติการในกรณีที่มีการจ้างเหมาช่วงในการดำเนินงาน 
  6. การจัดซื้อสินค้าและบริการ กล่าวถึงกระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการตรวจประเมินผู้ขายและการตรวจรับสินค้าที่มีผลต่อคุณภาพของการทดสอบและ/หรือสอบเทียบ 
  7. การให้บริการลูกค้า กล่าวถึงการให้ความร่วมมือประสานงานกับลูกค้ารวมถึงการแสวงหาและนำผลสะท้อนกลับจากลูกค้ามาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงาน 
  8. ข้อร้องเรียน กล่าวถึงนโยบายและขั้นตอนการจัดการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนที่ห้องปฏิบัติการได้รับ 
  9. การควบคมงานทดสอบและ /หรือสอบเทียบที่ไม่ีเป็นไปตามที่กำหนด กล่าวถึงวิธีการบริหารจัดการและดำเนินงานเมื่อการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการมีการเบี่ยงเบนไปจากรายละเอียดคำขอ ข้อเสนอฯและข้อสัญญา หรือไม่สอดคล้องตามวิธีทดสอบที่ได้ตกลงกับลูกค้าเอาไว้ 
  10. การปรับปรุง กล่าวถึงนโยบายในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องโดยการนำข้อมูลต่างๆที่ห้องปฏิบัติการได้รับ/ได้มา มาใช้ 
  11. การปฏิบัติการแก้ไข กล่าวถึงขั้นตอนและวิธีการแก้ไขเมื่อการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่นโยบายคุณภาพและ/หรือขั้นตอนการดำเนินงานได้กำหนดเอาไว้ โดยต้องทำการหาสาเหตุและแก้ไปที่รากของปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและมีการเฝ้าระวังเพื่อติดตามประสิทธิภาพของการแก้ไขดังกล่าว 
  12. การปฏิบัติการป้องกัน กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการควบคมงานทดสอบและ /หรือสอบเทียบที่ไม่ีเป็นไปตามที่กำหนด(ข้อ 9) ขึ้น มีการระบุแหล่งที่มาของสาเหตุการควบคมงานทดสอบและ /หรือสอบเทียบที่ไม่ีเป็นไปตามที่กำหนดและมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก 
  13. การควบคุมบันทึก กล่าวถึงขั้นตอนและวิธีการในการบริหารจัดการต่างๆ การชี้บ่ง การเข้าถึง การจัดเก็บ การแก้ไขปรับปรุง ยกเลิก และการแจกจ่าย ฯลฯ เอกสารและบันทึกคุณภาพที่เกี่ยวข้อง 
  14. การตรวจติดตามคุณภาพภายใน กล่าวถึงการดำเนินงานทั้งทางด้านการกำหนดและแต่งตั้งบุคลากร การวางแผนและจัดทำแผนเพื่อตรวจติดตามการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการในกิจกรรมต่างๆตามที่ข้อกำหนดระบุ 
  15. การทบทวนการบริหาร กล่าวถึงการดำเนินการโดยคณะผู้บริหารระดับสูงของห้องปฏิบัติการเพื่อทบทวนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและเพื่อวางแผนรวมทั้งปรับปรุงการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง 

ข้อกำหนดด้านวิชาการประกอบไปด้วย 
  1. ทั่วไป กล่าวถึงปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของผลการทดสอล/สอบเทียบของห้องปฏิบัติการ 
  2. บุคลากร กล่าวถึงความสามารถของพนักงานในการทำการทดสอบ/สอบเทียบ โดยระบุถึงการกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงาน การฝึกอบรม ฯลฯ เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานมีความรู้ความสามารถตามที่ต้องการ 
  3. สถานที่และภาวะแวดล้อม กล่าวถึงสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นในการทำงาน แหล่งทรัพยากรต่างๆที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการในการดำเนินงานตามขั้นตอนและวิธีการทดสอบ/สอบเทียบของห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการควบคุมตัวแปรหรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลการทดสอบ/สอบเทียบของห้องปฏิบัติการ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ฯลฯ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือที่ขั้นตอนการทดสอบ/สอบเทียบกำหนด 
  4. วิธีทดสอบ / สอบเทียบ และการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี กล่าวถึงวิธีการทดสอบ/สอบเทียบที่ห้องปฏิบัติการเลือกใช้ ซึ่งต้องเป็นขั้นตอนหรือวิธีการที่เหมาะสม ทันสมัย เป็นที่ยอมรับในระดับชาติหรือภูมิภาค สำหรับวิธีที่ห้องปฏิบัติการพัฒนาขึ้นเองจะต้องมีการตรวจเพื่อรองรับความน่าเชื่อถือของวิธีการดังกล่าว และสำหรับวิธีการที่ไม่เป็นมาตรฐาน ก่อนนำมาใช้งานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากลูกค้าก่อน นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดทำขั้นตอนการประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัดไว้ด้วย 
  5. เครื่องมือ กล่าวถึงการบริหารจัดการต่างๆที่ทำให้ห้องปฏิบัติการมีเครื่องมือที่เพียงพอต่อการดำเนินงาน อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ให้ผลการทดสอบ/สอบเทียบที่ถูกต้องน่าเชื่อถือ โดยมีการจัดทำแผนการสอบเทียบและบำรุงรักษา มีการป้องกันการปรับแต่ง ฯลฯ และมีการนำไปใช้งานโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและได้รับมอบหมายให้ใช้เครื่องมือ 
  6. ความสอบกลับได้ของการวัด กล่าวถึงการสอบเทียบเครื่องมือที่ต้องได้รับการสอบเทียบในช่วงที่เหมาะสมกับการใช้งานและโดยหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับและสามารถสอบกลับไปยังระบบสากล (International System of Units, SI) 
  7. การชักตัวอย่าง กล่าวถึงแผนการชักตัวอย่างและขั้นตอนในการชักตัวอย่างเพื่อนำมาทำการทดสอบ/สอบเทียบ โดยแผนการชักตัวอย่างที่ใช้จะต้องมีการอ้างอิงหลักการทางสถิติที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นใจในผลการทดสอบ/สอบเทียบที่ได้ 
  8. การจัดการตัวอย่างทดสอบและสอบเทียบ กล่าวถึงขั้นตอนในการจัดการตัวอย่างเพื่อให้เกิดความมั่นใจในสภาพของตัวอย่างที่ได้ว่าจะไม่เกิดความเสียหาย เสื่อมสภาพ ชำรุดสูญหาย ฯลฯ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรับตัวอย่าง การบ่งชี้ การจัดเก็บ การเตรียมตัวอย่าง เป็นต้น 
  9. การประกันคุณภาพผลการทดสอบและการสอบเทียบ กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินงานที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพและเพื่อเฝ้าระวังความใช้ได้ของการทดสอบ/สอบเทียบของห้องปฏิบัติการรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลผลการควบคุมคุณภาพที่ได้ 
  10. การรายงานผล กล่าวถึงรูปแบบของการรายงานผลการทดสอบ/สอบเทียบที่มีความถูกต้องชัดเจน 
อย่างไรก็ดี ขอบข่ายของมาตรฐาน ISO/IEC 17025 นี้ไม่ครอบคลุมถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ [2] 

ในการจัดทำระบบคุณภาพของห้องปฏิบัติการเพื่อขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 นั้น ห้้องปฏิบัติการจะต้องเตรียมเอกสารคู่มือคุณภาพ ซึ่งระบุถึงนโยบายในการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการในแต่ละกิจกรรมตามข้อกำหนดทั้งทางด้านการบริหารและด้านวิชาการอย่างครอบคลุมทุกข้อกำหนด และจัดเตรียมเอกสารขั้นตอนการดำเนินงานซึ่งเป็นขั้นตอนการทำงานที่สอดรับกับนโยบายการดำเนินงานที่คู่มือคุณภาพได้กล่าวไว้ โดยมีการแบ่งระดับของเอกสารในระบบคุณภาพออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ [3] 

  1. คู่มือคุณภาพ (Quality Manual) เป็นเอกสารระดับที่หนึ่งหรือระดับสูงสุดในระบบคุณภาพที่ระบุนโยบายในการดำเนินงานของห้องปฏิบัติการเอาไว้ 
  2. ขั้นตอนการดำเนินงาน (Quality Procedures) เป็นเอกสารระดับที่สองที่ให้รายละเอียดในการปฏิบัติงานเพื่อให้การดำเนินงานของห้องปฏิบัตการเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ในคู่มือคุณภาพและสอดคล้องกับข้อกำหนดตาม ISO/IEC 17025 
  3. ขั้นตอนการปฏิบัติงาน/วิธีปฏิบัติงาน (Work Instructions) เป็นเอกสารระดับที่สามที่กำหนดรายละเอียดในการดำเนินงานในแต่กิจกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกิจกรรมทางด้านวิชาการ การทดสอบ/สอบเทียบ 
  4. เอกสารเพิ่มเติมสนับสนุน (Supporting Documents) เป็นเอกสารระดับที่สี่ในระบบคุณภาพ มีไว้ใช้ในลักษณะการอ้างอิงเพื่อใช้งาน เช่น มาตรฐานการทดสอบ หรือใช้เพื่อบันทึกข้อมูลและรายละเอียดการดำเนินงาน เช่น แบบฟอร์มและแบบบันทึกต่างๆ เป็นต้น 
ประโยชน์ของการได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 คือ ทำให้เกิดความมั่นใจคุณภาพและความน่าเชื่อถือในรายงานผลการทดสอบหรือผลการสอบเทียบจากห้องปฏิบัติการสอบเทียบหรือทดสอบ เป็นการแสดงให้เห็นว่าห้องปฏิบัติการมีการดำเนินงานด้านระบบคุณภาพ มีความสามารถทางวิชาการ ผลการทดสอบหรือสอบเทียบที่ออกโดยห้องปฏิบัติการเป็นที่เชื่อถือได้ว่าถูกต้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้องตามหลักวิชาการ [4]



เอกสารอ้างอิง
[1] Guide 25 to ISO/IEC 17025: A Brief History and Introduction
[2] ข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการสอบเทียบ
[3] เอกสารระบบคุณภาพ (Quality System Documentation)
[4] มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.17025 (ISO/IEC 17025) คืออะไร



สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ห้ามมิให้คัดลอก ทำซ้ำ หรือเผยแพร่ส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความนี้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้โดยมิได้รับอนุญาต